.

[ข้อควรรู้]เบิกเงินค่าคลอดบุตร ประกันสังคม 13,000 + ? ได้เท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง หลักเกณฑ์?


คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ จะได้ใช้ ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ แบบเต็มๆจากการเป็นสมาชิกประกันสังคม ก็คราวนี้หละ! ท่านที่ยังไม่เคยมีบุตร หรือยังไม่เคยขอรับ “เงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร” ก็อาจจะยังไม่ทราบว่า เราจะได้รับเงินจากประกันสังคมจำนวนเท่าไหร่ และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง หลักเกณฑ์ในการรับสิทธิ์เป็นอย่างไร เรามาดูกันเลยจ๊า!!

เงินสงเคราะห์คลอดบุตร ประกันสังคม

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข : เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร จะมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้

เงินสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีคลอดบุตร
1.) เงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง โดยจะคลอดบุตรที่ใดก็ได้ (สำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเบิกจาก ประกันสังคม นะจ๊ะ)
2.) เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่าย ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน*
*คิดสูงสุดที่เพดานเงินเดือน 15,000 บาท
*กรณีเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 คิดตามจริง
*ตัวอย่างเช่น : กรณีสมาชิกประกันสังคมเพศหญิง เงินเดือน 15,000 บาท จะได้เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่าย 50% ของ 90 วัน หรือ 45 วัน หรือ 1.5 เดือน = 15,000 x 1.5 = 22,500 บาท

ดังนั้นถ้าเงินเดือน 15,000 ขึ้นไป เงินสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับกรณีคลอดบุตร จากประกันสังคม เท่ากับ 13,000 + 22,500 = 35,500 บาท นะจ๊ะ

หมายเหตุ :
*ทั้งนี้ในกรณีถ้า ลาหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เต็มสิทธิ์ 90 วัน ก็ยังจะได้รับเงินเงินสงเคราะห์จากนายจ้างอีก 1.5 เดือน เช่นกัน แต่ถ้าคุณแม่ฟิตจัด กลับมาทำงานได้ก่อนครบกำหนดลา 90 วัน นับแต่เริ่มกลับมาทำงานก็รับเงินเดือนตามจริงจากนายจ้าง จ๊ะ
*กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกัน ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้ว ไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก

ตรวจสอบสำเนาสูติบัตรบุตรคนที่จะใช้สิทธิ
1. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันตนหรือไม่
2. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ให้ตรวจสอบชื่อบิดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้อง ตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของผู้ประกันหรือไม่ และตรวจสอบชื่อมารดาของบุตรในสูติบัตรว่าถูกต้องตรงกับชื่อ-ชื่อสกุลของคู่ สมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนตามทะเบียนสมรสหรือหนังสือ รับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสหรือไม่
3. ถ้าไม่ถูกต้องตรงกันเนื่องจากสูติบัตรพิมพ์ผิดให้ผู้ประกันตนนำสูติบัตรกลับไปให้หน่วยงานที่ออกสูติบัตรแก้ไข ถ้าไม่ถูกต้องตรงกันเนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล ให้ขอสำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุล หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบหย่า

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน
1. ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นหรือให้ผู้อื่นมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา พร้อมหลักฐานหรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน
2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

พิจารณาสั่งจ่าย
► เงินสด / เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน)
► ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน
► โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน

เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
2. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ ใช้สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
3. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ ใช้สูติบัตรต้นฉบับของบุตรพร้อมสำเนา 1 ชุด สำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
4. สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกันตน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมี 9 ธนาคาร ได้แก่ ธ.กรุงไทย, ธ.กรุงศรีอยุธยา , ธ.กรุงเทพ, ธ.ทหารไทย, ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.กสิกรไทย, ธ.นาคารธนชาต, ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย และ ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ : หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

สถานที่ยืนเรื่อง : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

ยัง! เท่านี้ยังไม่พอ ท่านยังจะได้รับ เงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 400 บาท จากประกันสังคม ไปอีก 6 ปี อ่านรายละเอียดได้ที่ >> เงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม เดือนละ 400 บาท

ขอขอบคุณรายละเอียดจาก สำนักงานประกันสังคม

Like & Share This :

No Responses

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *